วันพุธที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2555

ตีแม่นขึ้นและไกลขึ้นด้วยวงสวิงเดิม

ตีแม่นขึ้นและไกลขึ้นด้วยวงสวิงเดิม
 "ในปัจจุบันเทคนิคการสวิงมีมากมายหลายทฤษฎี แน่นอนว่าทฤษฎีใหม่ๆ ล้วนยั่วยวนใจให้เราอยากลองอยากศึกษา นักกอล์ฟหลายๆ คนมัวแต่ไปใส่ใจเรื่องเทคนิคต่างๆ เหล่านั้นมากเกินไปจนหลายๆ คนลืมเรื่องที่ง่ายที่สุด และสำคัญที่สุดของวงสวิงไป" Rhythm, Timing และ Tempo สิ่งสำคัญที่สุดของการสวิงในทุกๆ เทคนิคการสวิง Rhythm คือเรื่องของจังหวะการสวิง Timing คือเรื่องความสอดประสานของการเคลื่อนไหวของร่างกายหลายๆ ส่วน ในจังหวะการสวิงนั้นๆ หากนำเรื่อง Timing ไปเปรียบเทียบการเล่นดนตรี เครื่องดนตรีหนึ่งชิ้นก็เปรียบเหมือนอวัยวะส่วนหนึ่งของร่างกาย ดนตรีแต่ละชิ้นจะต้องเล่นให้ลงจังหวะที่ถูกต้อง จะได้เพลงที่ไพเราะ หากมีชิ้นใดชิ้นหนึงเล่นไม่ตรงจังหวะ หรือนักร้องร้องค่อมจังหวะ เร็วไป ช้าไป จะทำให้ความไพเราะหายไป ในวงสวิงก็เหมือนกันเราจะต้องสวิงให้อวัยวะทุกส่วนเข้าจังหวะ ทำงานสอดประสานกัน ที่สำคัญอวัยวะทุกส่วนจะต้องอยู่ในตำแหน่งที่ถูกที่ถูกเวลา เรื่องนี้คุณจำเป็นต้องเรียนรู้พื้นฐานของวงสวิงที่ถูกต้องด้วย Tempo คือความเร็วที่สม่ำเสมอในการสวิง ตั้งแต่เริ่มแบ๊คสวิง ดาวน์สวิง จนกระทั่งปะทะลูก ทุกการเคลื่อนที่ต้องทำด้วยความเร็วที่สม่ำเสมอ การแบ๊คสวิงช้า แต่ลงเร็ว กับแบ๊คสวิงเร็วแต่ลงช้า ล้วนทำให้เกิดความเร็วที่ไม่สม่ำเสมอตลอดวงสวิง คล้ายๆ กับการนับจังหวะดนตรี เช่น 1...2...3...4... ถ้านับให้เร็วขึ้นคือ 1.2.3.4. คุณไม่สามารถนับ 1...2...3‚4‚ จะทำให้เกิดความเร็วที่ไม่สม่ำเสมอ อะไรคือสิ่งที่สำคัญที่สุดใน 3 เรื่องนี้ "คำตอบคือทั้งหมดล้วนแล้วแต่สำคัญทั้งสิ้น"

จากประสบการณ์การสอนของผม นักกอล์ฟส่วนใหญ่มักจะเริ่มต้นการพยายามตีไกล ด้วยการเพิ่มความเร็ว (Tempo) ของการสวิง โดยไม่สนใจเรื่อง Rhythm และ Timing ซึ่งจริงๆ แล้ว 3 ส่วนนี้ควรจะไปด้วยกัน และเรื่องการเพิ่ม Tempo ควรจะให้ความสำคัญเป็นเรื่องสุดท้ายด้วยซ้ำไป Rhythm และ Timing เป็น 2 เรื่องที่นักกอล์ฟควรจะสนใจเป็นอันดับแรก จะทำให้คุณสามารถควบคุมวงสวิงคุณให้ทำซ้ำๆ กันได้ ไม่ว่าปกติคุณจะตีไปทางซ้ายหรือขวา หากคุณรักษาจังหวะการสวิงให้สม่ำเสมอกันแต่ละครั้งที่ตี จะทำให้คุณสามารถรักษา Timing ของอวัยวะต่าง ๆ ในการสวิงได้ง่าย การรักษา Timing ในการตี ช่วยทำให้ทิศทางของลูกมีความสม่ำเสมอกมากขึ้น จะซ้ายก็ซายตลอด ขวาก็ขวาตลอด ซึ่งหากคุณทำซ้ำกันได้บ่อยๆ จะทำให้คุณมั่นใจในการประเมินทิศทางของลูกที่ไปหยุดอยู่ในแฟร์เวย์หรือกรีน ทำให้การเล็งเป้าหมายในการตีง่ายขึ้น ทำไมเราควรที่จะให้ความสำคัญ Rhythm กับ Timing เป็น 2 เรื่องแรก เพราะว่ากลไกในการสวิงตั้งแต่เริ่มแบ็คสวิง ดาวน์สวิง จนปะทะลูก และจบวงสวิงอันสวยงามนั้น ไม่ใช่ลักษณะการเคลื่อนที่ตามธรรมชาติของมนุษย์ มีรายละเอียดปลีกย่อยหลายอย่างที่จะต้องทำความเข้าใจ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ก็เหมือนกับการร้องเพลงที่เร็วๆ คนร้องจะต้องจำเนื้อให้ได้ก่อน ถึงจะร้องได้ถูกต้อง การสวิงกอล์ฟ นักกอล์ฟก็จะต้องทำความเข้าใจพื้นฐานวงสวิงก่อนถึงจะตีได้ดี หลังจากนั้นนักร้องก็จะต้องซ้อมร้องให้เนื้อถูกต้อง และลงจังหวะ เฉกเช่นนักกอล์ฟ ก็ต้องซ้อมสวิงให้ อวัยวะทำงานถูกต้อง และลงจังหวะที่ถูกต้อง ท้ายที่สุดนักร้องก็จะสามารถร้องเพลงที่เร็วให้เนื้อถูกต้อง และลงจังหวะ เช่นเดียวกับนักกอล์ฟที่สามารถสวิงกอล์ฟด้วยความเร็วให้อวัยวะต่างๆ ทำงานถูกต้อง และลงจังหวะ สุดท้ายการเพิ่ม Tempo นั้นขึ้นอยู่กับความยืดหยุ่นและความแข็งแรงของนักกอล์ฟแต่ละคน ซึ่งการจะเพิ่มความเร็วให้กับการสวิงนั้น ขอให้นักกอล์ฟอย่าเร่งความเร็วจนละทิ้งเรื่อง Rhythm และ Timing ขอให้เป็นการเพิ่มความเร็วให้กับจังหวะการสวิง โดยยังสามารถรักษา Timing ในการสวิงให้ได้ด้วย จะทำให้คุณตีได้ไกลขึ้นและแม่นยำขึ้น Note : เมื่อใดก็ตามที่คุณเพิ่มTempo แล้วทำให้คุณสูญเสียจังหวะ และความการทำงานที่สอดประสานกันระหว่างอวัยวะต่าง ๆ ขอให้คุณลด Tempo ในการสวิงลง แม้แต่ไทเกอร์ วูดส์เองก็มีปัญหากับเรื่อง Tempo ช่วงที่ไทเกอร์ตัดสินใจปรับวงครั้งใหญ่ เห็นได้ว่าไทเกอร์มีปัญหาการตีหัวไม้ 1 ค่อนข้างมาก เพราะการตีหัวไม้ 1 เป็นการสวิงที่มี Tempo ที่เร็ว ไทเกอร์ยังไม่สามารถใช้ Tempo เดิมในการตีวงใหม่ที่ปรับได้ หลาย ๆ ครั้งที่เราได้เห็นภาพช้า ในการสวิงของไทเกอร์ที่การทำงานของอวัยวะต่างๆ ไม่สอดประสานกัน ไม่ใช่ว่าไทเกอร์จะไม่เข้าใจเกี่ยวกับกลไกในการสวิง เขาเข้าใจในกลไกของสวิงได้ดีที่สุดในโลกด้วยซ้ำ แต่การเชื่อมกันระหว่าง 3 สิ่งที่กล่าวมานั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ทุกอย่างต้องใช้เวลา ระยะหลังหากใครสังเกตวงสวิงของไทเกอร์ จะพบว่าไทเกอร์กำลังประสาน 3 สิ่งดังกล่าวได้อย่างลงตัว นำมาซึ่งการชนะการแข่งขันถึง 5 รายการติด ถึงตอนนี้บอกได้คำเดียวว่าวงสวิงของไทเกอร์ กำลังสมบูรณ์สุดขีด

โดย โปรสมศักดิ์ศรี ส.ศรีสุวรรณ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น